“Blockchain” ประชาธิปไตยแห่งโลกการเงิน

Pattharathon Srithundorn
2 min readJun 20, 2021

--

บทความนี้จะอธิบายให้ทุกท่านได้เข้าใจ “ความหมาย” และ “ที่มา” ของเทคโนโลยีที่ชื่อว่า “Blockchain” รวมถึงเหตุผลที่เราทุกคนไม่ควรมองข้ามเทคโนโลยีนี้ ไม่ว่าจะเป็น คนทั่วไป นักพัฒนาโปรแกรม สถาบันการเงิน องค์กรต่างๆ หรือแม้กระทั่งหน่วยงานราชการ

ผมคิดว่าหลายๆท่านคงจะรู้จักและเข้าใจความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” เป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่คงจะมีหลายๆท่านที่ยังไม่รู้จักหรือยังไม่เข้าใจคำว่า “Blockchain”

แต่ก่อนจะไปรู้จัก Blockchain เรามาลองทำความเข้าใจระบบการเงินในปัจจุบันกันเสียก่อน :)

ระบบการเงินในปัจจุบันเป็นอย่างไร..?

ในปัจจุบัน หาก “สมชาย” ต้องการโอนเงิน 10 บาท ไปให้กับ “สมศรี” จะต้องทำการโอนเงินผ่านตัวกลาง อย่างเช่น ธนาคาร โดยตัวกลางจะทำหน้าที่ตรวจสอบ จัดเก็บข้อมูลบัญชีของทั้งสมชายและสมศรี ดังนั้นอำนาจและสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลจึงไปตกอยู่ที่ตัวกลาง

ระบบการเงินในปัจจุบัน แบบผ่านตัวกลาง

แล้วมันต่างอย่างไรกับระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง หรือ Blockchain ?

ก่อนอื่นเราไปเข้าใจความหมายของ Blockchain กันก่อน

“Blockchain” คืออะไร ?

Blockchain คือ ระบบเครือข่ายแบบไร้ศูนย์กลาง(Decentralized) ไร้คนกลางในการควบคุม และเป็นอิสระในตัวเอง ซึ่งข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นบน Blockchain จะไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้(Immutable) และทุกคนสามารถที่จะเข้าถึงหรือเห็นข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นได้(Transparency) โดย Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังของสกุลเงินดิจิทัล(Cryptocurrency) ชื่อดังอย่าง “Bitcoin” ที่หลายๆคนน่าจะรู้จัก

ระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลางหรือ Blockchain เป็นอย่างไร..?

ในระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง หาก “สมชาย” ต้องการโอนเงิน 10 บาท ไปให้กับ “สมศรี” จะไม่ได้ผ่านตัวกลางอย่างเช่น ธนาคาร (ที่คอยดำเนินการตรวจสอบหรือจัดเก็บข้อมูลบัญชีให้) แต่ทั้งสองคนจะต้องตกลงร่วมกันว่า จะช่วยกันตรวจสอบและจดบันทึกข้อมูลบัญชีกันเอง(ทั้งคู่จะเก็บข้อมูลที่เหมือนกัน หรือชุดเดียวกัน) ดังนั้น ธุรกรรมจึงเกิดขึ้นโดยตรงระหว่างสมชาย และสมศรี โดยปราศจากคนกลาง ทำให้อำนาจและสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลจะถูกกระจายไปยังทุกๆคนที่เกี่ยวข้อง

ระบบการเงิน แบบไม่ผ่านตัวกลาง หรือ ไร้ศูนย์กลาง

แล้ว Blockchain มี “ที่มา” อย่างไร..?

“Blockchain” มีจุดเริ่มต้นมาจาก “Bitcoin”

ref: https://unsplash.com/photos/I0TDRP0fj6Y

เนื่องจากปัญหาของระบบการเงินในปัจจุบันที่อำนาจในการควบคุมและจัดการทุกอย่างไปตกอยู่กับ “ตัวกลาง” ทำให้เราต้องอาศัยความเชื่อใจในตัวกลางอย่างมาก

ในปี ค.ศ. 2008 ชายผู้ใช้นามแฝงว่า “Satoshi Nakamoto” ได้เห็นถึงปัญหาของระบบการเงินในปัจจุบัน จึงได้คิดค้นระบบการเงินรูปแบบใหม่ขึ้นมาที่มีชื่อว่า “Blockchain” เพื่อใช้กับสกุลเงินดิจิทัลที่ชื่อว่า “บิตคอยน์ (Bitcoin)” โดยวัตถุประสงค์หลักของการสร้าง Blockchain ขึ้นมาก็เพื่อสร้างระบบการเงินที่เป็นอิสระ ที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อใจใคร(Trustless) หรือไม่จำเป็นต้องมีบุคคลที่สาม หรือคนกลาง ทำให้เกิดเสรีภาพทางการเงินอย่างแท้จริง

แล้ว “Blockchain” มันเกี่ยวข้องกับ “ประชาธิปไตย” อย่างไร ?

หลายๆท่านคงจะเริ่มสงสัยว่า “Blockchain” เกี่ยวข้องอะไรกับ “ประชาธิปไตย” ??ก่อนอื่นเราลองมาทบทวนความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” กันซักหน่อย..

ประชาธิปไตย คือ ระบอบการปกครองรูปแบบหนึ่งซึ่งอำนาจอธิปไตยจะอยู่ที่ ส่วนรวม เช่น พลเมือง ไม่ได้ตกอยู่ที่คนใดคนหนึ่ง โดยทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในการออกความคิดเห็น และเคารพเสียงส่วนมาก “เอกฉันท์ ”

ความแตกต่างระหว่าง ระบบแบบกระจายศูนย์ และ ระบบแบบรวมศูนย์

หากลองเปรียบเทียบความคล้ายคลึงระหว่าง Blockchain และ ประชาธิปไตย จะเห็นได้ว่า ทั้ง 2 อย่างนั้นมีสิ่งที่คล้ายกันเลยก็คือ “การกระจายอำนาจ” (Decentralized) “การเคารพเสียงส่วนมาก หรือ เอกฉันท์” (Consensus) และ ความโปร่งใส (Transparency)

ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอำนาจจะถูกกระจายไปยังประชาชนทุกคน เช่น ทุกคนมีสิทธิและอำนาจในการโหวตเลือกตัวแทน ทุกคนมีสิทธิและอำนาจในการแสดงความคิด แต่สุดท้ายทุกคนจะเคารพเสียงส่วนมาก

เช่นเดียวกันกับ Blockchain ที่อำนาจจะถูกกระจายไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเครือข่ายอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลหรือจัดเก็บข้อมูลเหมือนกัน ทุกคนมีสิทธิและอำนาจในการทำธุรกรรมเหมือนกัน

ดังนั้น Blockchain จึงเปรียบเสมือนเป็น “ระบบประชาธิปไตยแห่งโลกการเงิน” หรือ โลกการเงินที่ทุกๆคนมีเสรีภาพ มีอิสระในการทำธุรกรรม มีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลที่เหมือนกัน เคารพเสียงส่วนมาก และกระจายอำนาจไปยังทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ในปัจจุบันเราทุกคนใช้ชีวิตกันบนโลกออนไลน์เกิดขึ้นอยู่บนเครือข่าย Internet ตั้งแต่การเรียนการสอน การทำงาน การเชื่อมต่อสื่อสารกัน การ ซื้อ-ขาย การโอนเงิน สังเกตุได้ว่าหลายๆสิ่งอยู่ในรูปแบบของดิจิทัลมากขึ้น ในอนาคตสินทรัพย์ต่างๆก็จะถูกแปลรูปมาเป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น เช่น สกุลเงินดิจิทัล ทองคำ บ้าน ที่ดิน และอื่นๆ ทำให้เทคโนโลยี Blockchain จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับโลกยุคใหม่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และความโปร่งใส ให้กับทุกๆธุรกรรมบนโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นในอนาคต

เทคโนโลยี Blockchain ถือว่าเป็นอีกเทคโนโลยีที่น่าสนใจและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็น ด้านการเงินและการลงทุน(Finance) ด้านการบริหารห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain) ด้านสาธารณสุข(Heath Care) ด้านพลังงานและความยั่งยืน(Energy & Sustainability) และอื่นๆอีกมากมาย

อย่างไรก็ตามทุกสิ่งมีทั้ง ข้อดี และ ข้อเสีย ดังนั้นไม่ได้หมายความว่า ระบบการเงินแบบเดิมเป็นระบบที่ไม่ดี หรือ ระบบแบบใหม่เป็นระบบที่ดี แต่ขึ้นอยู่กับการนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นระบบแบบไหน หรือเทคโนโลยีไหนก็ตาม จงนำไปใช้อย่างถูกต้อง และก่อให้เกิดคุณค่ากับตัวเองและผู้อื่น

ขอบคุณครับ :)

--

--